ย้อนกลับไป หลังจากที่ออกจากการทำงานที่เก่า ตอนแรกตั้งใจว่าจะพักผ่อนก่อนสัก 6 เดือน แล้วค่อยหางานใหม่
แต่แล้ว พี่หนุ่มก็ทักมา แล้วชวนมา join กับ สยามชำนาญกิจ ด้วยความที่ว่า ผมเองก็รู้จักกับพี่หนุ่ม และสยามชำนาญกิจอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังติดสอยห้อยตามพี่ภากับพี่เจ๋งไป จนได้รู้จักกับพี่หนุ่ม ผมจำได้ว่า ตอนนั้นผมได้เข้าไปช่วยโครงการ Give and Take ไปเป็นเด็กเกาะเบาะช่วยงานและเก็บความรู้
หลังจากนั้นก็เฝ้ามองความเป็นไปอยู่ห่างๆ มาตลอด ถามพี่เจ๋งพี่ภาบ้าง สังเกตดูบ้าง ว่าเป็นยังไง
โดยส่วนตัวผมเองชอบวิธีการทำงานเป็นรอบในแบบของพี่หนุ่มอยู่แล้ว และก็เห็นด้วยว่ามันควรทำแบบนั้น (หลังจากที่ทดลองทำอะไรด้วยตัวเอง ก็ได้คำตอบมาเหมือนกัน)
พอพี่หนุ่มมาชวน ด้วยความที่ว่า ผมเองก็พอจะทำเรื่องการ setup process กับการ Build Team มาจากที่เก่า มันก็ได้ประสบการณ์และความรู้มาในระดับหนึ่งแล้ว และรู้ว่ามันทำได้แค่ไหน
เลยคิดว่าอยากลองเป็นคนนอกเข้าไปปรับบริษัทอื่นดูบ้าง เป้าหมาย คือ
- อยากรู้ว่าจะทำได้ประมาณไหน และมันแตกต่างยังไง
- การทำงานแบบ SCK มันจะเหมาะกับเราหรือเปล่า? (พี่ภาบอกว่าน่าจะเหมาะ 555+)
- ได้พัฒนาทักษะเพิ่ม
ดังนั้นการเชิญชวนในครั้งนั้น มันตัดสินใจไม่ยากเลย...
ตกลงครับ
จึงได้เข้าทำงานในตำแหน่ง Agile Software Development Experience Delivery
เราส่งมอบประสบการณ์
เป็นประโยคที่ได้ยินพี่หนุ่มพูดบ่อยๆ ตอนเข้าไปทำงานแรกๆ ผมเลยสังเกตวิธีการทำงานของพี่ๆ แต่ละคน และพยายามหา identity ของ sck บอกตรงๆ ว่า เห็นชื่อตำแหน่งตอนแรกแล้ว ก็ยังสงสัยอยู่ว่า ทำแค่ไหนกันนะ
จนทำงานและพยายามสังเกตุไปสักพักก็พบว่า เวลาที่เราเข้าไปช่วยลูกค้า เราไม่ใช่แค่ไปบอกๆ ให้เขาทำแล้วก็จบไป แต่เราจะต้องสามารถทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้ ให้คำแนะนำได้
ไม่ใช่แค่บอก แต่ต้องทำให้ดูได้
ที่สำคัญ... ประสบการณ์ที่เราเคยทำมา เป็นสิ่งที่เราส่งมอบให้ลูกค้าจริงๆ เราสามารถบอกได้ว่า ควรทำแบบไหน ถ้าทำแบบนี้หรือไม่ทำแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น พูดจากประสบการณ์ของเราจริงๆ ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ หรือฟังมา
ซึ่งผมชอบตรงนี้มากๆ
พุ่งชนกำแพง
ด้วยความที่ผมออกจากที่เก่าในตำแหน่งของ CTO จากบริษัท Startup ที่อยู่มาตั้งแต่ day one มันเลยทำให้เวลาผมจะทำอะไร มันคุยกันง่าย ทุกคนพร้อมไป แถมน้องๆ ในทีมก็มี maturity ที่สูง พร้อมปรับ เลยทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราสามารถเข้าไปปรับทีมได้ และวิธีการที่ทำมามันใช่
แต่เมื่อผมเข้าไปปรับทีมจริงๆ ก็เจอปัญหาหลายๆ อย่างในการปรับทีม มันไม่ใช่แค่การเข้าไปปรับวิธีการทำงาน แต่ต้องช่วยให้ทีมผ่านปัญหาต่างๆ ที่เจออยู่ด้วย ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับการปรับการทำงานเลย แต่ต้องทำเพื่อให้มันไปต่อได้
จำได้ว่า ตอนเริ่มต้นผมขึงวิธีการทำงานแบบตึง เหมือนกับที่ทำที่เก่าเลย โดยอยู่บนความคิดที่ว่า เรื่องแค่นี้เอง ทีมทำได้อยู่แล้ว ทั้งเล่าให้ฟัง ทำให้ดู แต่พอถึงจังหวะที่ให้ทีมทำ ปรากฎว่า ทีมเริ่มบ่ายเบี่ยง ไม่ค่อยทำ ผมก็พยายามหาว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ทำไมถึงไม่ทำ ซึ่งพอเห็นปัญหาแล้ว ก็พอเข้าใจอยู่ และพยายามช่วยแล้วในระดับหนึ่ง
แต่ทีมก็ยังมองไม่ออก เอาจริงๆ คือ ทีมไม่มีเวลา เงยหน้าขึ้นจากงานที่อยู่ตรงหน้า เลยทำให้ไม่มีเวลาที่พอที่จะปรับเปลี่ยนอะไร
แต่ถ้าไม่ทำทีมก็จะอยู่กับปัญหาเหล่านั้นไปตลอด ก็พยายามดันให้ทีมทำ จนกระทั่ง เจอแรงต้านจากทีมที่เข้าไปปรับ จนไม่สามารถ transform ต่อได้ ตอนนั้นมันเหมือนกับการที่เอาตัวไปพุ่งชนกำแพงเลย
ตัวผมอีกโหมดหนึ่งกำลังจะออกมา แต่ก็โดนเบรกด้วยพี่หนุ่ม เลยหาวิธีอื่นๆ ในการปรับทีมแทน ทำให้หลังจากนั้นก็หย่อนลงมาจากเดิม ปรับนู่นนิดนี่หน่อย แก้ปัญหาให้ทีมก่อน แล้วสังเกตทีมเอาว่า จะใส่อะไรได้แค่ไหน แม้จะขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็เข้าใจทีมมากขึ้น
ทำให้การ transformation ทีมหลังจากนั้น ก็สบายขึ้น สังเกต reaction กับ feedback จากทีมที่เข้าไปปรับ ทุกคนก็รับฟัง และเข้ามาขอคำแนะนำตลอด เลยทำให้การ transform เป็นไปได้ด้วยดี
พื้นที่ของแต่ละคน
แต่ละคนใน sck จะมีวิธีการคิด วิธีการทำงาน การพูด และมุมมองต่องานที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน เวลาที่ได้ไปทำงานร่วมกันกับพี่ๆ เพื่อนๆ มันเลยเหมือนการไปสังเกตการณ์ทุกคนไปในตัว
พี่หนุ่ม จะเน้นไปที่การเตรียมของก่อนนำไปพัฒนา และ การออกแบบ test design การได้อยู่กับพี่หนุ่ม เลยเป็นการลับคนเรื่อง process และการเตรียมของของเข้าผลิต ผมจะชอบฟังพี่หนุ่มในเรื่องเสมอ
พี่พฤษ จะมาในแนวของการ Agile Transformation เลย มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด การบันทึก และแผนปรับปรุง ประหนึ่งเป็นหมอตรวจสุขภาพ ผมชอบตรงนี้ของพี่พฤษมาก กับอีกอย่าง คือ มุมมองในระดับ Manager หรือ C-Level ขึ้นไป
พี่บอม ผู้เป็นที่รักของผู้ฟังด้วยน้ำเสียงอันนุ่มลึก (เค้าว่ามาอย่างนั้น) กับประสบการณ์ และปัญหาต่างๆ ในการพัฒนา software ที่เจอมา ทำทุกครั้งที่พี่บอม เข้าไปโค๊ชทีม หรือ workshop มักจะเป็นที่ถูกอกถูกใจ คนฟังเสมอ ผมชอบตรงนี้มาก ผมเคยคุยเรื่องนี้กับพี่บอมว่า ผมอยู่กับทีมที่ดีมาตลอด เลยไม่ค่อยเจอปัญหาที่คนทั่วไปเจอกัน เลยทำให้เวลาไปโค๊ช ไปเล่า มันจะไม่ได้ขยี้ pain ของเขาเท่าไหร่
พี่บอย มุมมองด้าน technical ของพี่บอยเฉียบขาดมาก เห็นอาการนิดเดียวก็บอกได้แล้วว่า เกิดจากอะไร หรือ จะเกิดปัญหาอะไร มุมมองในการวิเคราะห์ด้านนี้ของพี่บอย คือ สุดยอดมาก
คนนี้แถม พริ้ว ทักษะด้าน Project Management คือ ที่สุด บวกกับความดุ จิก เร็ว ประหนึ่งจะกินหัวทุกคน จากการเป็น Project Manager มาก่อน มันช่วยได้เยอะ 555+
ส่วนนุ่นไม่ได้สังเกตเยอะเท่าไร่ แต่ประสบการณ์ทำงานร่วมกับ vender และ data analysis นั้นมีประโยชน์มากๆ
แต่ละคนจะมีประสบการณ์ วิธีการ และทักษะที่แตกต่างกันอยู่ และก็มีส่วนที่เหมือนกันอยู่ ทำให้เวลาทำงานร่วมกัน ผมมักจะได้อะไรใหม่ๆ มาเสมอ
โอเค แต่รับไม่ได้
จากที่เล่ามัน มันก็ดีนี่ แล้วทำไมถึงลาออก บอกก่อนว่า ผมมีวิธีเลือกและตัดสินใจร่วมงานหรือลาออกอยู่แล้ว ผมมักเรียกมันว่า "เงื่อนไขในการเข้าทำงานและลาออกจากงาน" หรือ เรียกง่ายๆ ว่า "กฏส่วนตัว" นั่นแหละ
หลังจากที่ทำงานกับ sck มาได้ปีกว่าๆ คำตอบ ของคำถามที่อยากรู้ผมก็ได้รู้แล้ว ผมนิยามในการเข้าไปปรับทีมหรือบริษัทในมุมของคนนอกไว้ว่า
มันได้ประมาณนี้แหละ
หมายความว่า ในการเข้าไปปรับทีมหรือองค์กรแต่ละครั้ง ภาพปลายทางที่อยากได้ มันจะเป็นอะไรที่สุดมากๆ ถ้าทำได้แบบที่ sck แนะนำ องค์กรหรือทีมนั้นจะเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมเลย
แต่ในความเป็นจริง เมื่อเราเข้าไปปรับ องค์กร หรือทีม ก็จะมี Goal ที่ต้องทำอยู่ และการ transformation เป็นแค่หนึ่งใน Goal ขององค์กร หรือ ทีมนั้นๆ ซึ่งอาจไม่ได้ถูก priority ไว้เป็นอันดับแรกๆ ซึ่งก็เข้าใจนะ เพราะการหาเงินเข้าบริษัทต้องมาก่อนอยู่แล้ว
แต่ถ้า priority มันต่ำมากๆ โอกาศที่จะปรับได้มันก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ต้องงัดกลเม็ดต่างๆ แอบสอดใส่ เนียนๆ เข้าไป เพื่อให้สามารถไปต่อได้
บวกกับ การปรับวิธีการทำงานแบบนั้น มันต้องปรับทั้ง process และ skills เลยทำให้มันค่อนข้างใช้เวลา และความใส่ใจที่สูง โดยเฉพาะ Skills ถ้าหากมี Skills Gap เยอะ ก็ต้องเพิ่มและใช้เวลาเยอะขึ้นตาม แถมถ้าคนในทีมไม่เห็นความสำคัญของมันแล้วด้วย โอกาศที่จะปรับได้แบบถาวรก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก
จากปัจจัยต่างๆ ของลูกค้า มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่ลูกค้าจะเลือกปรับแค่จุดใดจุดหนึ่ง ถึงแม้ว่า การทำเช่นนั้น จะไม่ช่วยเท่าไหร่ แถมพร้อมกลับไปเป็นแบบเดิมด้วย ผมก็พอเข้าใจในมุมของลูกค้า
แต่.....
ความเข้าใจ กับ รับได้ มันคนละเรื่องกัน
ผมเข้าใจและโอเค ถ้าที่ลูกค้าเลือกแบบนั้น... แต่ผมรับไม่ได้ที่ผมทำได้แค่นั้น
ผมพึ่งเข้าใจเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เอง... ว่าผมรับไม่ได้ที่ปรับปรุงทีมให้ดีตามที่คาดหวังไม่ได้
ถ้าจะขยายความเพิ่มผมมองว่า
ทีมที่ผมเข้าไปปรับ + ผลงานของทีม = ผลงานของผม
มันเป็นแนวคิดในระดับ Manager ที่ผมเคยทำมา แล้วถ้าผลงานมันออกมาไม่ดี ผมก็จะไม่โอเค ผมรู้สึกถึงความกากของผม ที่ปรับทีมได้แค่นั้น ต่อให้รู้เหตุผลว่าทำไมถึงทำได้แค่นั้น แต่ก็รับไม่ได้จริงๆ
มันเลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ระหว่างเป็นคนนอกเข้าไปปรับ กับ ถ้าเราเข้าไปดูแลทีมเลย อยู่กับทีม แบบไหนเราจะโอเคกว่ากัน?
คำตอบ คือ เข้าไป Manage Team เลย อยู่กันไปปรับกันไปจนกว่า ทีมจะดีตามที่คาดหวัง หรือ ผมยอมแพ้กันไป ผมว่า ผมโอเคกับแบบนี้มากกว่า
ความเฉียบคมบางอย่างก็ลดลง
อยู่มาวันหนึ่ง ผมได้มานั่งไล่ดูว่า ตัวเองนั้นมีทักษะอะไรบ้าง และต้องเพิ่มทักษะอะไรเข้าไปบ้าง ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี รู้แล้วว่ามีทักษะอะไร และต้องเพิ่ม หรืออยากเพิ่มอะไร ชีวิตแฮปปี้
จนกระทั่ง... เกิดคำถามหนึ่งขึ้น...
แล้วทักษะอะไรที่ลดลงบ้าง?
เท่านั้นแหละ...
มีหลายอย่างที่ไม่ได้ใช้งาน หรือถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เข้าใจได้ โดยเฉพาะทักษะที่เป็น Technical Skills ที่ถ้าไม่ได้ฝึกหรือทำบ่อยๆ ก็จะทื่อลงได้
ตัวที่รู้สึกว่าความเฉียบคมกำลังลดลง คือ การตัดสินใจ การต่อรอง กลยุทธ การตลาด Business เป็นต้น
ซึ่งบางทักษะ มันก็ยังอยู่แหละ แต่ไปทำในระดับทีมมากกว่า ซึ่งตรงส่วนนี้ก็ยังได้อยู่ แต่ทักษะในระดับ C-Level นี่สิ ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า มันกำลังถดถอย เลยทำให้รู้สึกเสียดายทักษะเหล่านั้นขึ้นมา โดยทั่วไปถ้าเป็นทักษะเก่า ที่ไม่ค่อยใช้แล้ว ผมจะไม่คิดอะไรมาก
แต่พอเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต หรือต้องใช้ในระดับที่สูงขึ้น มันก็เลยรู้สึกเสียดายอยู่ ไม่อยากให้หายไป
Hello ITSM
ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา มีหลายสิ่งที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น หนึ่งในนั้น คือ IT Service Management อาจจะเป็นเพราะต้องที่อยู่ที่เก่า มันมีช่วงที่จะต้อง Scale up บริษัท ให้ดีขึ้นไปอีก Step หนึ่ง
ช่วงนั้นเลยพยายามวาง process ต่างๆ ขึ้นมา แต่ด้วยความที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ Setup ตาม Journey ที่เข้ามา ก็พาไปได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็ออกมา ไม่ได้ทำต่อ
แต่พอได้มารู้จักกับ ITSM ทำให้คิดขึ้นมาได้เลยว่า นี่แหละที่ตามหา เลยไปลงเรียน ITIL v4 Fundamental มา ก็พอจะทำให้รู้จักมันมากขึ้น แต่ยังไม่เคยได้ใช้งานจริงๆ
ผมไม่อยากทำอะไรพวกนี้หรอก แค่รู้จักมันอยากลองทำงานภายใต้ ITSM ดู อยากรู้ว่ามันต้องทำอะไรบ้าง มีข้อดีข้อเสียยังไง เอามาปรับใช้กับ Agile แล้วมันจะเป็นแบบไหน พอจะนึกภาพออก แต่ยังไม่เคยทำ เลยอยากลอง แต่มันก็ยังไม่ใช้ Goal ที่อยากทำจริงๆ
แค่อยากรู้ อยากลอง แต่ไม่ได้อยากทำเป็นจริงเป็นจัง ผมรู้ตัวเองเลยว่า พอรู้แล้ว เดี๋ยวผมก็เบื่อ แล้วอยากไปทำอย่างอื่น
บางอย่าง แค่อยากรู้ อยากลอง
โดยทั่วไปแล้ว ผมมักแบ่งทักษะของพนักงานสาย Software ของเรา ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ Generalist กับ Specialist คนสองกลุ่มนี้จะตอนเริ่มต้นจะเหมือนกัน แต่จะเริ่มแยกออกจากกันเมื่อตำแหน่งงานสูงขึ้น โดยที่
Generalist: จะเริ่มเอนไปทาง Management มากขึ้น เน้นไปเรื่องของการบริหารคน บริหารทีม วางแผน แก้ปัญหา และให้คำแนะนำ ที่เลือกสายนี้จะรู้กว้างแต่ไม่ค่อยรู้ลึกเท่าไหร่ พื้นฐานได้ ใช้ทำงานทั่วไปได้ แต่ปัญหาเฉพาะอาจจะไม่รู้เยอะขนาดนั้น (ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละที่ตีความคำว่ารู้ลึกไว้แค่ไหน)
Specialist: คือ กลุ่มคนที่มุ่งมั่นไปยัง Hard Skills ที่ตัวเองชอบและถนัด กลุ่มนี้จะรู้ลึก เจอปัญหาเยอะ แก้ปัญหาเฉพาะได้ แต่มักไม่ชอบการบริหารคน ทีม และโปรเจคเท่าไหร่
ที่ยกเรื่องนี้มา เพื่อจะบอกว่า ผมจัดอยู่ในกลุ่ม Generalist ผมชอบงานวางแผน บริหารคน บริหารทีม และแก้ปัญหามาก ผมอยากรู้หลายๆ อย่าง เพื่อให้สามารถเข้าใจหรือแนะนำทีมเบื้องต้นได้
ดังนั้น ผมเลยอยากรู้อะไรเยอะมาก อยากรู้แทบทุกเรื่องของ Software Development เป้าหมาย คือ เพื่อให้สามารถพูดคุย ให้คำแนะนำเบื้องต้น และช่วยเหลือทีมได้
ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ด้วยความที่เป็นคนประมาณนี้ เลยทำให้ เมื่อรู้แล้ว ทำได้แล้ว มองภาพออกแล้ว มันทำให้ผมเบื่อง่าย เช่น ตอนที่ได้ไปทำ APIs Testing ช่วงแรกมันสนุกมากๆ อันนั้นก็น่าสนใจ อันนี้ก็น่าสนใจ อยากลองทำแบบนั้น แก้โจทย์แบบนี้ พอทำไปได้สักเดือนกว่าๆ พอเริ่มทำอะไรซ้ำ มันก็เริ่มเบื่อ แล้วความสนุกก็ค่อยๆ หายไป และไม่อยากทำมันต่อแล้ว
สิ่งที่ชอบยังคงเหมือนเดิม
หนึ่งปีผ่านไป ผมยังคงชอบทำงานในระดับของการ Manager อยู่ การได้ดูแลทีม build team และปรับปรุงการทำงานของทีม คือ สิ่งที่ผมชอบ เอาจริงๆ ชอบกว่าการเป็นแค่โค๊ชด้วย
และที่ทำให้ผมทุ่มเทกับงานได้ คือ Product ผมเป็นสายทำ Product การได้มีส่วนร่วมกับทีม ทำ Product ขึ้นมา มันเป็นความ Enjoy อย่างหนึ่งของผม
ดังนั้น output ที่ตรงจริตผมที่สุด คือ
ผลงานของทีม + product = ความภาคภูมิใจของผม
อีกอย่าง เป้าหมายของการเป็น CTO ของผมยังคงเหมือนเดิม แต่ผมจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก
บทสรุป
โดยส่วนตัวสำหรับผมแล้ว sck เป็นพื้นที่ๆ ดีมาก การได้เจอพี่ๆ เพื่อนๆ การได้ฝึกฝนทักษะ รวมถึงการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่เป้าหมายที่ผมอยากจะไปหลังจากนี้มันไม่ค่อย match กับ sck เท่าไหร่ ออกมาค้นหาสิ่งที่อยากทำ และมีความสุขกับมันดีกว่า
สุดท้าย ขอบคุณพี่หนุ่ม ที่ชวนมา join และขอบคุณพี่ๆ ทุกคนสำหรับความรู้และคำแนะนำ ขอบคุณทุกคนครับ
การได้ร่วมเดินทางกับ SCK เป็น ช่วงเวลาที่มีคุณภาพมากๆ