การสร้างทีมเป็นหนึ่งในเรื่องที่ระดับผู้บริหารต้องทำ หากใครอยู่ในบริษัทที่มีกระบวนการรับพนักงานและการสร้างทีมที่อยู่ตัวแล้ว อาจจะไม่เห็นกระบวนการเหล่านี้ หรือ หากเป็นบริษัทที่มีเงินเยอะหน่อยไม่มีปัญหาในการรับพนักงานเงินเดือนสูงๆ หรือการดึงดูดคนเข้ามาร่วมงาน ก็อาจจะสามารถสร้างทีมที่มีแต่คนเก่งๆ หรือคนในระดับ Senior เลยก็ได้ ไม่ได้ผิดอะไร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราอยู่ในบริษัทที่ไม่มีความสามารถเเข่งขันในเรื่องของเงินเดือนที่สูง เพื่อดึงดูดคนเข้ามาทำงานให้เรา เราจะต้องทำยังไง หรือ ถ้าอยากสร้างทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมาในบริษัทจะต้องทำยังไง?

ทีมที่แข็งแกร่ง != ทีมที่มีแต่คนเก่ง

นิยามเกี่ยวกับทีมของผม ทีมแข็งแกร่งไม่ใช่ทีมที่เอาคนเก่งๆ ความสามารถในงานสายงานสูงมารวมตัวกัน เพราะผมมองว่าบริษัทที่ทำอย่างนั้นได้มีน้อยมาก และมันใช้ Cost ที่สูงมากที่จะสามารถสร้างทีมแบบนั้นได้

ถ้าเราได้ไปทำงานในบริษัทที่ไม่ได้มี Budget ในส่วนของการจ้างงานที่สูง หรืองานไม่ได้ท้าทายมากมาย แนวคิดในการรวมคนเก่งๆ เอาไว้ด้วยกันแบบนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นเราจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการสร้างทีม บทความนี้ผมเลยจะอธิบายวิธีการสร้างทีม ที่ผมทำกับชมชอบ

เกริ่นก่อนว่า ชมชอบ ปัจจุบันเป็นบริษัทขนาดเล็กค่อนไปถึงกลาง มีพนักงานไม่เกิน 50 คน เริ่มแรกทางบริษัทรับพนักงานเข้ามาทำงาน โดยยังไม่มีเป้าหมายในการสร้างทีมเลยในตอนแรก ชมชอบรับคนเข้ามาให้ครบตามความต้องการ เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ทันตามเวลาเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไปชมชอบสามารถระดมทุนได้ และมี Budget ในการรับคนเพิ่มมากขึ้นดังนั้นหนึ่งสิ่งที่ผมต้องทำเมื่อได้รับตำแหน่ง CTO คือ การวางโครงสร้างของทีม และกระบวนการทำงานต่างๆ ทั้งหมด เพื่อให้เป็นการวางรากฐานเพื่อเตรียมสำหรับการรองรับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบทความนี้ผมจะมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน

เมื่อเราพูดถึงการสร้างทีม สิ่งแรกที่จะต้องมีเลย คือ คน (พนักงาน) และสิ่งที่เราต้องทำในการสร้างทีม คือ

  1. กำหนดตำแหน่ง (ตำแหน่ง, ทักษะ, หน้าที่ความรับผิดชอบ, ฐานเงินเดือน)
  2. การหาคน (กำหนดเป้าหมาย, ช่องทาง, ระยะเวลา, การวัดผล)
  3. การพัฒนาคน (การฝึกทักษะ, การวัดทักษะ, การประเมิน)

ถ้าเราต้องการแค่หาคนเข้ามาทำงานให้เรา เราสามารถที่จะรับสมัครงาน หาคนเข้ามาเติมทีมได้เลย

แต่ถ้าหากเราต้องการสร้างทีมที่แข็งแกร่งแล้ว เราจำเป็นต้องทำ 3 อย่างนี้เสมอ

กำหนดตำแหน่ง

การกำหนดแหน่ง เป็น การที่เราจะต้องระบุสิ่งต่างๆ ของตำแหน่งงาน ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่ง ระดับ ความรับผิดชอบ และฐานเงินเดือน เป็นต้น โดยจะเรียกสิ่งนี้ว่า Career Path

Career Path คือ เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่มีลำดับขั้นของตำแหน่งงานตั้งแต่ต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด เช่น งานแรกของเราเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพ เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ จนสะสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เพิ่มขึ้น เราอาจได้เลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยเส้นทางอาชีพของแต่ละสายงานก็จะมีความแตกต่างกันไป เพราะบางคนปูเส้นทางอาชีพของตัวเองมาในลักษณะเป็นเส้นตรง เช่น หลังเรียนจบมาทำงานตรงสาย แล้วหลังจากนั้นก็เติบโตขึ้นไปในสายงานนั้นเรื่อยๆ

แต่บางคนก็อาจจะมีเส้นทางอาชีพที่มีความคดเคี้ยว ใช้เวลาในการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางนานกว่าคนที่มุ่งสู่เป้าหมายเป็นเส้นตรง หรือบางคนอาจจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่เพราะเจอกับความล้มเหลวในอาชีพ ดังนั้นเส้นทางอาชีพจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละบุคคล

Ref: Career Path คืออะไร? พร้อม How to เลือกเส้นทางทั้ง 9 สเต็ป | Techsauce

โดยสิ่งที่ต้องทำในการสร้าง Career Path ขึ้นมา จะประกอบไปด้วย

  1. Position — ตำแหน่งงานที่มีในทีมทั้งหมด เช่น UX/UI Designer, Software Engineer (Front-end, Back-end), QA Tester เป็นต้น
  2. Responsibility — หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่ง โดยกำหนดลงไปเลยว่าแต่ละตำแหน่งต้องรับผิดชอบในเรื่องไหนบ้าง
  3. Job Level — เป็นส่วนที่บอกว่าพนักงานคนนั้นอยู่ในระดับไหน เช่น Junior, Intermediate, Senior, Executive, MD เป็นต้น โดยจะแยกออกเป็นแต่ละตำแหน่งงานไปเลย ซึ่งจะมี Level ที่เหมือนหรือต่างกันก็ได้
    Job Level สามารถแยกระดับให้ละเอียดลงไปได้อีก เพื่อให้ง่ายต่อการประเมินและตัดสินใจเลื่อนขั้นให้พนักงาน เช่น Junior L1 — Junior L5
    เมื่อมี Job Level แล้ว ให้ระบุ Skills (ใช้ข้อ 4. ประกอบได้) และ Responsibility ของแต่ละระดับไว้ด้วยว่าจะต้องทำอะไรได้บ้าง ต้องดูแลและรับผิดชอบอะไร
  4. Position Require — เป็นส่วนของการกำหนดทักษะ ความสามารถและประสบการณ์ของพนักงานในแต่ละ Level เพื่อให้พนักงานได้ทราบว่า ถ้าหากต้องการเลื่อนตำแหน่งไปในระดับอื่นจะต้องมีหรือทำอะไรบ้าง และยังใช้เป็นตัวชี้วัดเวลาต้องการเลื่อนตำแหน่งพนักงานด้วย
  5. Salary Base กำหนดฐานเงินเดือนให้แต่ละตำแหน่งและระดับ อาจจะระบุเป็น Rang ไว้ก็ได้ เพื่อใช้เป็นฐานในการขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานในตอนที่ได้เลื่อนตำแหน่ง เช่น Jonior จะมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 25k — 35k เป็นต้น

เมื่อเราสร้าง Career Path เรียบร้อยแล้ว เราจะนำ Career Path นี้ไปใช้ในการหาพนักงานและพัฒนาพนักงานในอนาคต และให้จำไว้ว่า ถ้าหาก Career Path ของบริษัทเรายังไม่นิ่ง เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามความเหมาะสมและเป้าหมายของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมนึกถึงพนักงานที่ทำงานอยู่กับเราด้วยว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

เมื่อมีครบทั้งแล้ว เราจะใช้ 5 ข้อนี้ในการพิจารณาในเรื่องของการรับสมัครพนักงาน การพัฒนาพนักงาน ไปจนถึงการปรับขึ้นตำแหน่งและเงินเดือน

ตัวอย่าง
Position + Responsibility
ใช้ในการหาคนเข้ามาในทีมหรือการมอบหมายหน้าที่ให้แก่พนักงาน โดยสิ่งนี้จะทำหน้าที่ระบุขอบเขตของงานและหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ

Position + Responsibility + Job Level + Position Require
ใช้ในการบอกถึงระดับทักษะของผู้สมัครหรือพนักงานว่าแต่ละคนอยู่ในระดับไหน เราสามารถมาเอา 3 อย่างนี้ มาเพื่อพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน และใช้ในการวางแผนสำหรับการพัฒนาพนังงานแต่ละคน เพื่อให้ก้าวขึ้นไปยังตำแหน่งถัดไปได้

Position + Responsibility + Job Level + Salary Base
เราจะใช้เพื่อพิจารณาในการเลื่อนปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานเมื่อพนักงานถูกเสนอตำแหน่งที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินเดือนในขึ้นตอนนี้เป็นเพียงการตรวจสอบว่าตำแหน่งกับฐานเงินเดือนตรงกันหรือเปล่า และจะปรับขึ้นเข้าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับ Responsibility และ Performance ของพนักงานคนนั้นๆ ด้วย

เมื่อเราเตรียม Career Path เรียบร้อยแล้ว เราก็เอาข้อมูลตรงนี้ ไปเสนอผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจการตัดสินใจก่อน และต้องดูด้วยว่าถ้าจะมีการใช้งานจริงๆ จะกระทบอะไรบ้าง เช่น จะต้องเลื่อนตำแหน่ง หรือ ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจากับทางผู้มีอำนาจตัดสินใจ เป็นต้น

สมมติว่า CEO บริษัทของเราเขาโอเคกับการปรับตำแหน่งและฐานเงินเดือนของพนักงาน เราก็มาพิจาณาดูว่าพนักงานของเราในปัจจุนอยู่ในตำแหน่งไหน และระดับใดบ้าง

ถ้าหากตำแหน่ง หน้าที่ความรับผิดชอบ และทักษะ ยังไม่ตรงกับที่เราระบุเอาไว้ ก็หาโอกาศปรับมันก่อนที่จะรับคนใหม่ๆ เข้ามา ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ และวิธีการ(อย่าไปปรับลดเงินเดือนของพนักงานเชียวละ ถ้ายังอยากให้คนๆ นั้นอยู่ต่อ) เช่น ถ้าตำแหน่งต่ำกว่าทักษะความสามารถของพนักงานก็ให้ปรับตำแหน่งขึ้น ถ้าทักษะยังต่ำกว่าทักษะที่ระบุไว้ก็ให้เพิ่มทักษะที่ยังขาดไป เป็นต้น

หลังจากที่เราได้กำหนดตำแหน่งงาน นำเสนอ ได้รับการพิจารณา และได้รับอนุมัตจากผู้มีอำนวจการตัดสินใจแล้ว เราสามารถทำเรื่องต่อไปได้แล้ว นั้นคือ การหาคนนั่นเอง