วันก่อนได้อ่านเรื่อง MANAGING ACROSS THE CORPORATE LIFE CYCLE: CEOS AND STOCK PRICES ได้มีการพูดถึง ลักษณะ (Characteristic) หรือทักษะ (Skill) ของ CEO ที่เหมาะสมในแต่ละช่วง Stage เพื่อเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนให้มากที่สุด (Maximized Profitability) ซึ่งจาก slide จะแบ่ง life cycle ของบริษัทออกเป็น 6 ช่วงด้วยกัน

Stage of Company Life cycle

  1. Start-up (เริ่มต้น)
  2. Young growth (เติบโตเริ่มต้น)
  3. High growth (เติบโตสูง)
  4. Mature Growth (การเติบโตลดลง)
  5. Mature stable (ไม่เติบโต แต่ไม่ถดถอย)
  6. Decline (ถดถอย)

ในแต่ละช่วงเวลาของบริษัทจะต้องเจอกับสถานะการณ์หลายๆ อย่างที่แตกต่างกัน รวมถึงวิธีการบริหารจัดการกับบริษัทในแต่ละช่วงนั้นๆ ด้วย ดังนั้นหากเราได้ CEO ที่มีลักษณะ หรือทักษะ ที่เหมาะสมในแต่ละช่วง Stage บริษัทจะสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้ด้วยดี และสามารถทำกำไรได้ด้วย


CEO ที่เหมาะสมในแต่ละช่วง

ตลอด life cycle ของบริษัท CEO จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถ และใช้มันได้อย่างเหมาะสมกับช่วงเวลาดังกล่าว โดย Aswath Damodaran ได้สรุปไว้เป็นภาพนี้

https://pages.stern.nyu.edu/~adamodar/pdfiles/blog/CEOLifeCycle.pdf

Start-up

The Visionary (ผู้มีวิสัยทัศน์): ช่วงเริ่มต้น บริษัทต้องสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ตลาด จึงต้องการ CEO ที่มีการคิดนอกกรอบมีความคิดสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์ และสามารถดึงดูดนักลงทุนได้

Young growth

The Pragmatist (นักปฏิบัตินิยม): หลังจากได้ Idea และแนวทางบริษัท ก็ถึงเวลาที่ต้องการเปลี่ยนจาก Idea เป็นสินค้าและบริการ เอามาออกขายจริง ดังนั้นจึงต้องการ CEO ที่สามารถเปลี่ยนจาก Idea มาเป็นสินค้าและบริการจริงๆ ศึกษาการตอบสนองจากลูกค้า และปรับปลี่ยน

High growth

The Business Builder (ผู้สร้างธุรกิจ): เมื่อสินค้าหรือบริการของบริษัทดูไปได้แล้วตอนนี้บริษัทก็ต้องการ Scaling ให้บริษัทใหญ่มากขึ้น จึงต้องการ CEO ที่สามารถสร้างธุรกิจได้ดี สร้างแผนงาน วางระบบ ให้ระบบมันรัน Scaling ต่อไปได้

Mature Growth

The Opportunist (ผู้ฉวยโอกาส): เมื่อบริษัท Scaling ถึงจุดหนึ่งแล้วการเติบโตเริ่มหยุดฉะงัก บริษัทจำเป็นต้องหาโอกาสในการไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดสินค้าหรือบริการเดิม หรือสร้างขึ้นมาใหม่ จึงต้องการ CEO ที่สามารถมองเห็นโอกาสและไปเริ่มลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เนื่องจากบริษัทมี Resource อยู่แล้ว

Mature stable

The Defender (ผู้พิทักษ์): เมื่อยังหาโอกาสใหม่ที่จะเติบโตไม่ได้หรือบริษัทไม่มีนโยบายทำสิ่งใหม่ จำเป็นต้องมี CEO ที่มีความสามารถในการรักษา Market share เดิมเอาไว้ให้ได้ (ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง)

Decline

The Liquidator (ผู้ชำระบัญชี): ในช่วงระยะถดถอย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือลงทุนอะไรใหม่ๆ และบริษัทยอมรับแต่โดยดีว่าบริษัทไม่สามารถไปต่อได้แล้ว CEO ที่เหมาะสมที่สุดก็ คือ ผู้ชำระบัญชีทำหน้าที่ในการปิด หรือจัดการบริษัทช่วงท้ายให้ได้ดีมากที่สุด


ทั้ง 6 ลักษณะที่กล่าวมานั้น อาจจะอยู่ในคนๆ เดียว (ซึ่งหายากมากๆ) หรือ CEO แต่ละคนจะมีทักษะและลักษณะที่เหมาะสมกับช่วงเวลาเหล่านั้นอยู่ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าหากว่า บริษัทมีการเปลี่ยนแปล CEO (จริงๆ ผมมองว่ามันสามารถรวมถึง C-Level อื่นได้ด้วย) นั่นเป็นสัญญาณว่า บริษัทต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า CEO ที่บริหารอยู่ หรือ ผู้ที่ถูกคัดเลือกมาให้ดำรงตำแหน่ง CEO จะเหมาะสมกับช่วงเวลานั้นๆ หรือเปล่า

บ่อยครั้งที่คณะกรรมการจะเลือก CEO มาผิดคนผิดช่วงเวลา โดย Aswath Damodaran ได้มีการกล่าวถึง ข้อผิดพลาดที่พบเจอได้บ่อยๆ เช่น

จ้างคนที่หลายคนมองว่าเป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จของเขานั้น อาจจะอยู่ในบริษัทที่มีขั้นตอนที่แตกต่างกันมากใน life cycle ของบริษัทในตอนนั้น ถ้าเขาไม่เคยมีทักษะและประสบการณ์ตรงกับสถานะการณ์ของบริษัท ก็อาจจะนำพาบริษัทไปผิดทางได้

หรือจะเป็น การเสี่ยงในการพลิกชะตาบริษัทจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งกรณีนี้มักเกิดขึ้นกับบริษัทที่เติบโตเต็มที่แล้ว หรือกำลังตกต่ำ ซึ่งคิดว่าการจ้าง CEO ที่เป็น The Visionary (ผู้มีวิสัยทัศน์) จะทำให้บริษัทสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่า มันคือการ bet (เดิมพัน) และมันออกได้ทุกหน้า แต่หาก bet แล้วพลาดไม่สามารถกลับมาได้ มันก็ส่งผลให้ CEO คนนั้นเสียชื่อเสียงของตัวเองได้ และบริษัทแย่ลงไปด้วย

สุดท้าย ก็ต้องค้นหา CEO ที่เหมาะสมกันใหม่จนกว่าจะเจอคนที่สามารถพลิกวิกฤตได้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาคนที่เหมาะสมได้หรือไม่ และในบางครั้งคนที่เหมาะสมอาจจะไม่พร้อมที่จะมาทำงานที่บริษัทเราก็ได้ ก็ต้องหาคนที่ใกล้เคียงมาแทน

จำไว้ว่า... ผู้บริหารแต่ละคนจะมี Characteristic หรือ Skills ที่แตกต่างกัน การที่ได้ผู้บริหารที่เหมาะสมมาบริหารองค์กร มันจะส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่า เมื่อบริษัทผ่านช่วงเวลานั้นไปแล้ว ผู้บริหารคนเดิมอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป