ช่วงนี้ว่างงานอยู่ เลยได้มีเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอ่านแล้ว ชอบมากกกกกกกกกกก เลยหยิบมาแชร์กัน

ทฤษฎีหมวก 6 ใบของ Edward de Bono มันเป็นทฤษฎีที่จะช่วยให้เราจัดการกับความคิดได้อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปใช้ได้ในทุกๆ สถานะการณ์

โดยจะแบ่งการคิดออกเป็นแต่ละแบบ โดยในหนังสือจะแทนความคิดเหล่านั้น เป็น หมวก ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว มาดูกันว่าแต่ละใบมีไว้ทำอะไรบ้าง


หมวกขาว

คือ ดาวสว่างแห่งข้อเท็จจริง ไม่มีอคติ ไม่มีดราม่า

😌

มันเป็นตัวแทนของ ข้อมูล และ ข้อเท็จจริงล้วนๆ เหมือนตอนที่เราเปิด Google Map เพื่อหาร้านอาหาร เพื่ออ่านรายละเอียดสถานที่ที่เราจะไป เราไม่สนใจว่า คนรีวิวจะสถานที่นั้นยังไง เขาชอบหรือไม่ชอบ เราแค่อยากรู้ว่าร้านเปิดกี่โมง ราคาเท่าไหร่ มีโปรโมชั่นอะไรบ้าง หรือเมนูซิกเนเจอร์คืออะไร

ตัวอย่างการใช้:

ถ้าเพื่อนชวนไปเที่ยวต่างประเทศ เราก็จะถามว่า...

  • "ไปกี่วัน?
  • ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่?
  • ต้องทำวีซ่าไหม?
  • อากาศช่วงนั้นเป็นยังไง?
  • มีที่เที่ยวอะไรบ้าง?"

ไม่ใช่ "เฮ้ย! ไปเลยดิ มันส์แน่ๆ" (นั่นมันหน้าที่ของหมวกแดง)

แต่ระวัง! อย่าใช้หมวกขาวมากเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นมนุษย์สถิติที่ตอบคำถาม "วันนี้เป็นไงบ้าง?" ด้วยการบอกอุณหภูมิ ความชื้น และความดันอากาศ...

เดี๋ยวจะไม่มีใครอยากคุยด้วย เดี๋ยวจะกลายเป็นคนเดียวเหงาเอาได้นะ

Pro tip

ใช้หมวกขาว เวลาต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ อย่าเพิ่งใส่อารมณ์ แค่รวบรวมข้อมูลให้ครบก่อน เราต้องเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนที่จะสรุปว่ามันเหมาะสมกับการอยู่อาศัยหรือไม่

การฝึกสมาธิแบบเซน สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นความจริง โดยปราศจากอคติได้ เพียงแค่นั่งนิ่งๆ ไม่คิดอะไร...

ซึ่งหลายเรามักทำได้ดีมากโดยไม่ต้องฝึก โดยเฉพาะตอนอยู่ในห้องเรียนหรือที่ประชุม (หลับนั่นเอง 555+) 😄


หมวกแดง

คือ อารมณ์และสัญชาตญาณ

มันเป็นตัวแทนของความรู้สึก อารมณ์ และสัญชาตญาณทั้งหมดที่พุ่งพล่านในใจคุณ

เป็นเหมือนภูเขาไฟที่พร้อมจะระเบิด หรือ เหมือนเราเมื่อเจอรถวัยรุ่นขับปาดหน้ากระชั้นชิด

😠

ตัวอย่างการใช้

"โคตรโมโห! อยากลงไปด่าให้หายแค้นจริงๆ" หรือ "รู้สึกตื่นเต้นมากเลยที่จะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ! รอไม่ไหวแล้ว"

ระวัง! ถ้าใช้หมวกแดงมากไป เราอาจกลายเป็น Drama Queen ที่โวยวาย เมื่อ Delivery มาส่งอาหารช้าไป 5 นาทีได้

Pro tip:

หมวกแดง ควรใช้แต่พอดี นำมาใช้เพื่อเพิ่มความกระตือรือร้นได้ แค่ไม่ควรเอามาใช้เป็นตัวนำ เพราะถ้ามากเกินไปก็จะส่งผลเสียได้ เหมือนกับการกินอาหารเผ็ด ถ้าพอดีก็อร่อย แต่ถ้าเผ็ดเกินไปก็ได้นั่งชักโครกทั้งคืน


หมวกดำ

คือ การระมัดระวัง

มองหาจุดอ่อน ความเสี่ยง แต่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายนะ มันเหมือนกับระบบเตือนภัยล่วง ในสายงานของผมมัน คือ risk management เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้

สมมุติว่า... เพื่อนชวนลงทุนเปิดร้านกาแฟ เราอาจจะคิดว่า "แต่ตอนนี้มีร้านกาแฟเยอะมากนะ การแข่งขันสูง แถมค่าเช่าก็แพง เราพร้อมรับมือกับความเสี่ยงพวกนี้หรือยัง?"

ระวัง! ถ้าใส่หมวกดำบ่อยเกินไป เราอาจกลายเป็นคนที่ชอบทำลายความฝันของคนอื่นได้

ประมาณว่า...

"อยากเปิดร้านกาแฟเหรอ?
รู้ไหมว่าจำนวนร้านกาแฟที่ล้มละลายมีกี่เปอร์เซ็นต์ในปีแรก?
แถมยังต้องตื่นเช้ามาก ยืนทั้งวัน เหนื่อยจะตาย"

โอเค ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว

Pro tip

ใช้ หมวกดำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหา ไม่ใช่เพื่อยกเลิกแผนทั้งหมด เราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งหมด แต่ไม่ใช่เพื่อขัดขวางหรือยกเลิก แต่ใช้มันเพื่อให้งานหรือภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดี

หมวกดำเป็นตัวแทนของ การคิดเชิงวิพากษ์ และ การระมัดระวัง เหมือนกับระบบเบรกในรถยนต์ ถ้าไม่มีมัน เราอาจจะพุ่งชนกำแพงด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว (แต่ถ้าใช้มันบ่อยเกินไป คุณอาจจะไม่ได้ออกจากบ้านเลย)


หมวกเหลือง

คือ การมองโลกในแง่ดี

มองหาโอกาส และ ข้อดีในทุกสถานการณ์

ตัวอย่างการใช้

ถ้าโดนรถวัยรุ่นปาดหน้า แทนที่จะโมโห เราอาจจะคิดว่า "ดีนะที่เราขับรถระวัง ไม่งั้นอาจเกิดอุบัติเหตุได้ โชคดีที่ไม่เป็นอะไร" หรือ ถ้าเรากำลังตกงานอยู่ เราอาจจะมองว่า "นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้หางานที่ตรงกับความฝันมากขึ้น หรือลองทำธุรกิจที่อยากทำมานาน"

ระวัง! ถ้าใส่หมวกเหลืองมากไป เราอาจกลายเป็นคนประเภท "This is fine" ที่ยิ้มได้แม้บ้านจะไฟไหม้

"นี่ไง! โอกาสดีที่จะได้แต่งบ้านใหม่! แถมยังได้ออกกำลังกายดับเพลิงอีกต่างหาก!"

แบบนี้ก็ไม่น่าจะใช่นะ 🤔

Pro tip

ใช้หมวกเหลือง เวลาเจอปัญหาที่ดูเหมือนจะแก้ไม่ได้ บางทีการมองในมุมบวกอาจช่วยให้เห็นทางออกที่ไม่เคยคิดมาก่อน

อีกอย่าง... การสร้างสมดุลระหว่าง การมองโลกในแง่ดี กับ ความเป็นจริงเป็นสิ่งสำคัญ

ลองใช้เทคนิค "ความหวังที่มีเหตุผล" คือ มองหาด้านบวก แต่ก็เตรียมแผนสำรองไว้ด้วย เช่น "เราจะพยายามเต็มที่ในการสัมภาษณ์งาน แต่ถ้าไม่ได้ เราก็มีแผนกลับบ้านไปทำสวนไว้แล้ว"


หมวกเขียว

คือ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

มันท้าทาย แปลกใหม่ และอาจจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่ใครจะรู้ บางที่เราอาจจะค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็ได้

ตัวอย่างการใช้

ถ้าเราต้องการประหยัดพื้นที่ในบ้าน แทนที่จะซื้อตู้เสื้อผ้าใหม่ ลองคิดว่า "ถ้าเราแขวนเสื้อผ้าไว้บนเพดานล่ะ? (แต่อย่าลืมเตรียมบันไดไว้ด้วยนะครับ)

Pro Trip

การใช้เทคนิคการระดมสมองแบบหมวกเขียว ลองให้ทุกคนในทีมเสนอไอเดียที่แปลกประหลาดที่สุดที่คิดได้ แล้วดูว่าจะเอามาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร ซึ่งสุดท้ายบางครั้งอาจจะไม่ได้ช่วยให้ตัดสินใจดีขึ้น แต่อย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกายไปในตัว (ผมใช้วิธีนี้ในการคิดไอเดียอยู่บ่อยๆ)

Steve Jobs เคยพูดไว้ว่า "ความคิดสร้างสรรค์คือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน" ซึ่งถ้าตีความตามทฤษฎีหมวก 6 ใบ ก็คือ "ความคิดสร้างสรรค์ คือ การใส่หมวกทุกใบพร้อมกันแล้วไม่เป็นลม"


หมวกฟ้า

คือ ศูนย์บัญชาการแห่งความคิด

ควบคุมการใช้หมวกอื่นๆ และจัดการกระบวนการคิดทั้งหมด เหมือนกับการเป็นผู้กำกับในกองถ่ายหนัง... แต่แทนที่จะตะโกน "คัท!" เราจะต้องตะโกนว่า "คิด!" ให้สมองทุกส่วนทำงานประสานกัน

การใช้หมวกฟ้า

เป็นเหมือนการถ่ายหนังที่เราจะต้องควบคุมฉากแต่ละฉาก เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เราต้องคุมหมวกแต่ละใบ เพื่อให้ได้งานที่ดีออกมา ประหนึ่งเป็นผู้กำกับมือทอง...

ผู้กำกับ: "เอาล่ะ ทีมงานสมองทุกคน! เราจะสร้างภาพยนตร์มหากาพย์แห่งความคิดกัน! และ... แอคชั่น!"

ฉากที่ 1: หมวกขาว! ปล่อยข้อมูลมาเลย! ให้มันท่วมท้นเหมือนสึนามิแห่งความรู้! เอาให้แน่นเหมือนหนังสารคดีของ BBC ผสมกับวิกิพีเดียยกกำลังสอง!

ฉากที่ 2: หมวกแดง! ให้อารมณ์ให้มันพุ่งพล่านเหมือนภูเขาไฟระเบิด! เอาแบบอารมณ์กินใจ แต่ไม่กินบ้านกินเมือง!

ฉากที่ 3: หมวกดำ! ปล่อยความกังวลและความกลัวออกมา! ให้น่ากลัวเหมือนบิลค่าใช้จ่ายกองเรา!

ฉากที่ 4: หมวกเหลือง! ให้ความหวังส่องประกาย! เหมือนแสงไฟท้ายรถเมล์คันสุดท้ายที่นายวิ่งตามทัน!

และฉากสุดท้าย: หมวกเขียว! ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ให้บานสะพรั่งเหมือนต้นกัญชาหลังถูกกฎหมาย!

และ... คัท! เยี่ยมมาก ทีมงานสมอง! งานนี้ต้องได้รางวัลออสการ์แห่งความคิดแน่นอน!

แต่ถ้าใครคิดว่าตัวเองแสดงได้ไม่ดี ก็อย่าเพิ่งน้อยใจไป เดี๋ยวเราค่อยถ่ายทำใหม่ในความฝันคืนนี้!


ทฤษฎีหมวก 6 ใบของ Edward de Bono เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราคิดอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองนำไปใช้ดูกัน

ในหนังสือมีรายละเอียดมากกว่านี้ ลองไปหาอ่านกันดูได้ 😊